ประวัติสำนักงาน

ประวัติและความเป็นมา

          ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่เลขที่ 9 หมู่ที่ 10 ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6  จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          จัดตั้งครั้งแรกตามคำสั่ง กรมส่งเสริมการเกษตรที่ 1132/2538 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ภายใต้ชื่อว่า  ศูนย์พัฒนาการบริหารศัตรูพืชโดยชีววิธีพิษณุโลก  โดยใช้อาคารที่ทำการของหน่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ 3 พิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก

          ในปี พ.ศ. 2539 ตามคำสั่งที่ 37/2539 ลงวันที่ 18 มกราคม 2539 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริหารศัตรูพืชโดยชีววิธีพิษณุโลก 

          ปี พ.ศ. 2542 ตามคำสั่งที่ 473/2542 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์ส่งเสริมเกษตรชีวภาพและโรงเรียนเกษตรกรภาคเหนือตอนล่างจังหวัดพิษณุโลก 

          ปี พ.ศ. 2544 ตามคำสั่งที่ 1022/2544 ลงวันที่ 28 กันยายน 2544 เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริหารศัตรูพืชโดยชีวภาพพิษณุโลก 

          ปี พ.ศ. 2546 ตามหนังสือที่ กษ 1018/ว1421 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2546 เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดพิษณุโลก 

          และ ปี พ.ศ. 2557 ตามคำสั่งกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ 429/2557 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก” โดยมีบทบาทหน้าที่ภารกิจด้านการส่งเสริมการเกษตร ในการศึกษา ทดสอบ การใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืช การตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยศัตรูพืช พยากรณ์เตือนการระบาด โดยให้บริการด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่เครือข่ายอารักขาพืช

 

ลักษณะทางกายภาพ

                   ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่รับผิดชอบรวม 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก และเพชรบูรณ์ รวม 93 อำเภอ 791 ตำบล 7,826 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่ 84,761 ตร.กม.(52.98 ล้านไร่) สำหรับพื้นที่ภายในศูนย์ฯได้ดำเนินการในการจัดผังการใช้พื้นที่ในการปฏิบัติงานตามภารกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์ฯ เกษตรกรและผู้มาขอรับบริการ  โดยข้อมูลทางกายภาพในส่วนต่างๆ มีดังนี้

1. สภาพแวดล้อมของศูนย์ฯ ในพื้นที่ 13 ไร่ ติดเส้นทางคมนาคมสายหลักทำให้การเดินทางสะดวก

2. มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์และโรงเรือนเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติที่ทันสมัย  มีศักยภาพในการผลิตจุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช  เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรคลอบคลุมในเขตพื้นที่  9  จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

3. มีศูนย์ถ่ายทอดความรู้โดยวิธีผสมผสาน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชแก่เกษตรกรและผู้สนใจ

4. มีแปลงเรียนรู้เพื่อใช้ในการศึกษา และทดสอบ  ในด้านเทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืช

5. มีอาคารสำนักงานเป็นสถานที่สำหรับอำนวยการ

Additional information